วิชชาธรรมกาย

วันบรรลุธรรม

วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 พ.ศ. 2460
วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) สละชีวิตเป็นเดิมพัน ในการปฏิบัติธรรมเพื่อค้นหาสัจธรรมของชีวิต หรือธรรมะที่แท้จริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบในวันตรัสรู้ นั่นก็คือ วิชชาธรรมกาย ซึ่งนับนานกว่า 2,000 ปีหลังพุทธปรินิพพาน ที่คำสอนที่แท้จริงในด้านการปฏิบัติเพื่อบรรลุซึ่งมรรคและผลได้เลือนหายไป คงเหลือไว้แต่คำว่า "ธรรมกาย" ในพระไตรปิฎกเท่านั้นเอง
ดังนั้นในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี
ทางวัดพระธรรมกาย และศิษยานุศิษย์หลวงปู่ทั่วโลกต่างก็ได้จัดให้มีพิธิฉลองวันครูวิชชาธรรมกายขึ้น เป็นประจำทุกปี

ธรรมกาย คือ อะไร?

            นับแต่ครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ประสูติ ในวันเพ็ญเดือน 6 ใน วันนั้นเรียกว่า วันบังเกิดแห่ง ”รูปกาย หรือ กายเนื้อ” ของ พระโพธิสัตว์ หลังจากนั้นที่โคนไม้พระศรีมหาโพธิ์ พระมหาสมณะได้ทิ้งชีวิตปฏิบัติธรรมอย่างเด็ดเดี่ยว ใต้โพธิบัลลังก์เพื่อแสวงหาความจริงของชีวิต จนพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือน 6 นั่นเอง วันนั้นเป็นวันที่เรียกว่า วันบังเกิดแห่ง “ธรรมกาย หรือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรม” ดังนั้น ธรรมกาย คือ กายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เข้าถึง แล้วทำให้ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระองค์บริบูรณ์ขึ้นมานั่นเอง

     หลังจากนั้น 45 พรรษาของการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้เทศนาสั่งสอนให้คนทั้งหลายได้รู้จักธรรมกาย และหนทางปฏิบัติให้เข้าถึงซึ่งธรรมกาย อันเป็นทางเอกสายเดียว และเป็นทางสายกลางที่จะให้มวลมนุษย์ได้เข้าถึงความสุขอันยิ่งใหญ่ หรือ พระนิพพานได้ แต่หลังจากนั้นเพียงประมาณ 500 ปีหลังพุทธปรินิพพาน วิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงธรรมกาย ได้หายสาบสูญไปเหลือเพียงแต่คำว่า ธรรมกาย ให้คนรุ่นหลังได้ตีความไปต่างๆ นานา แต่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วธรรมกายคืออะไร

      จนในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ที่พระอุโบสถ วัดโบสถ์(บน) ต.บางคูเวียง พระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ซึ่งก็คือหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่าน ได้สละชีวิตเป็นเดิมพัน ขอนั่งสมาธิแม้ตายก็ไม่ลุกจากที่ หากไม่เข้าถึงธรรมที่พระบรมศาสดาได้เข้าถึง ในที่สุดแห่งความพยายามท่านได้เข้าถึงธรรม ณ ที่นั้น และได้เผยแผ่ธรรม ตลอดจนวิธีปฏิบัติ อันเป็นแม่แบบและต้นแบบ ตามแนวทางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ อย่างถูกต้องตามร่องรอยของพระพุทธศาสนาจนตลอดชีวิตของท่าน

การค้นพบวิชชาธรรมกาย

ในพรรษาที่ 11 หลวงปู่วัดปากน้ำได้ไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียงอ.บางกรวย จ.นนทบุรี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ท่านได้มีความคิดที่จะกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตั้งแต่เช้าตรู่ โดยปรารภว่า

“เราบวชมาจวนจะครบ 12 พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้าเรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดเลยสักวันทั้งคันถธุระและวิปัสนาธุระ อย่าเลย ควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเสียที”

หลวงพ่อวัดปากน้ำตั้งใจกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์

       เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำกลับจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็รีบจัดการภารกิจต่างๆ ให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจ เสร็จแล้วก็ได้เข้าเจริญภาวนาในอุโบสถ โดยตั้งใจว่าหากไม่ได้ยินเสียงกลองเพลจะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้วก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” เรื่อยไปจนกระทั่งความปวดเมื่อย และอาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวนกระวายจนเกือบจะหมดความอดทน แต่ได้ตั้งสัจจะไว้แล้วจึงทนนั่งต่อไป เมื่อไม่สนใจความปวดเมื่อยของสังขาร ในที่สุดใจก็ค่อยๆ สงบลงทีละน้อยแล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก

วันที่หลวงปู่วัดปากน้ำบรรลุธรรมกาย

     เย็นวันนั้นหลังจากได้ฟังพระปาฏิโมกข์กับเพื่อนสหธรรมิกแล้ว ท่านได้รีบทำภารกิจส่วนตัวสรงน้ำให้ร่างกายสดชื่นดีแล้ว จึงเข้าไปในอุโบสถแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกราบพระประธานแล้วก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า

“ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการเป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิตเมื่อตั้งจิตมั่นลงไปอย่างนั้นแล้วท่านได้แสดงความอ้อนวอนต่อหน้าพระประธานซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าทรงพระราชทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดและง่ายที่สุดที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้าถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์ข้าขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลยถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต”

ดวงใหม่ผุดซ้อนขึ้นมาแทนที่ดวงเก่า แต่ใสสว่างมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกายต่างๆ ตามลำดับจนกระทั่งถึง ธรรมกาย

ปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงธรรมกาย

        เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว ขณะที่ท่านกำลังนั่งเจริญสมาธิภาวนาท่านเหลือบไปเห็นมดไต่ขึ้นมาตามรอยแตกของอุโบสถท่านเกรงว่ามดจะมากัดทำให้ต้องถอนออกจากสมาธิ จึงเอานิ้วมือจุ่มน้ำมันก๊าซลากเป็นวงล้อมรอบตัวเพื่อกันมดแต่ยังไม่ทันวงรอบตัวท่านก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ชีวิตของเรา เราได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีก จึงวางขวดน้ำมันก๊าดลง เจริญกัมมัฏฐานต่อไป

เวลาผ่านไปประมาณครึ่งค่อนคืนใจของท่านอยู่สงบนิ่งที่สุดกลางกายได้ส่วนพอดี

ดวงกลมโตสายบริสุทธิ์ที่ศูนย์กลางกายที่ท่านเห็นเมื่อเพลยิ่งใสสว่างมากขึ้นราวประสบการณ์เงาใหญ่ขนาดดวงอาทิตย์ เห็นอยู่อย่างนั้นหลายชั่วโมงโดยไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป ขณะนั้นมีเสียงหนึ่ง ผุดขึ้นมาจากกลางดวงนั้นว่า

“มัชฌิมาปฏิปทา”

       ขณะเดียวกันที่ศูนย์กลางดวงกลมใสสว่างนั้นก็มีจุดเล็กเรืองแสงว่าขึ้นมาทันคิดว่านี่กระมังทางสายกลางท่านจึงมองไปที่จุดนั้นทันที จุดนั้นค่อยๆขยายโตขึ้นมาแทนที่ดวงเก่าซึ่งหายไป ท่านมองเข้ากลางจุดเล็กที่อยู่กลางดวงใสไปเรื่อยๆ ก็เห็นดวงใหม่ที่สุกใสยิ่งกว่า ลอยขึ้นมาท่านเข้ากลางดวงใหม่ที่ลอยขึ้นมาแทนที่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายไปเรื่อยๆ

       ในที่สุดจึงเห็นดวงต่างๆเกิดขึ้น จนกระทั่งถึงธรรมกายซึ่งเป็นองค์พระปฏิมากรเขตดอกบัวตูมใสบริสุทธิ์งดงามหาที่ติมิได้ ใสยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์ใดที่เคยเห็นมา ท่านได้เข้าถึงพระธรรมกายกลางดึกคืนนั้นเอง ณ เวลานั้นตระหนักว่า

“พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าให้ถึงได้ต้องรู้ตรึก รู้นึก รู้คิด ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิดนี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้เป็นไม่เห็นเด็ดขาด”

ด้วยการสละชีวิตปฏิบัติธรรมถึง 2 คราจนเข้าถึงพระธรรมกาย ท่านได้ศึกษาวิชชาธรรมกายจนเกิดความเชี่ยวชาญ แล้วได้มุ่งมั่นเผยแผ่พระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกาย จนตลอดอายุขัยของท่าน หลวงปู่วัดปากน้ำเป็นตัวอย่างของพระภิกษุผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เป็นพระนักปฏิบัติธรรม และเป็นพระนักพัฒนา พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ คือ จอมทัพธรรม ผู้นำในการสร้างบารมีเพื่อไปสู่ที่สุดแห่งธรรมโดยท่านตั้งความปรารถนาจะค้น คว้าวิชชาธรรมกายไปให้ถึงที่สุด ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากการเป็นบ่าว เป็นทาสของพญามาร เอาชนะให้ได้เด็ดขาด
(ข้อมูลจาก https://www.dmc.tv/)

สัมมา อะระหัง

“สัมมา อะระหัง” เป็นคำที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ใช้สำหรับบริกรรมภาวนาในการบำเพ็ญสมณธรรมผู้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิกัมมัฏฐานตามนัยของหลวงปู่ อาศัยคำภาวนานี้ บริกรรมประกอบกับน้อมนำใจมาไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 เมื่อใจหยุดถูกส่วนเข้าก็จะเข้าถึงธรรมกายได้

“ สัมมา อะระหัง” ก็แปลว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นพระอรหันต์โดยชอบ

(ฐานที่ 7) นั้นมีศูนย์ 5 ศูนย์ ศูนย์กลาง ศูนย์ข้างหน้า ศูนย์ข้างขวา  ศูนย์ข้างหลัง ศูนย์ข้างซ้าย

  1. ศูนย์ข้างขวา คือ ธาตุดิน
  2. ศูนย์ข้างหน้า คือ ธาตุน้ำ
  3. ศูนย์ข้างซ้าย คือ ธาตุลม
  4. ศูนย์ข้างหลัง คือ ธาตุไฟ
  5. ศูนย์กลาง คือ อากาศธาตุ


เครื่องหมายใสสะอาดตรงช่องอากาศขาด กลางตรงนั้นเรียกว่า ศูนย์

การปฏิบัติธรรม

หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ อธิบายการทำสมาธิว่า คือการทำให้ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ รวมหยุดเป็นจุดเดียว หรือให้รวมหยุดเป็นจุดเดียวในอารมณ์ที่สบายที่กลางกายของเรา ซึ่งวิธีทำให้เกิดสมาธิ คือฝึกใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ภายใน

ฐานที่ตั้งของใจทั้ง 7 ฐาน

ฐานที่ 1 ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา
ฐานที่ 2 เพลาตา หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา
ฐานที่ 3 จอมประสาท
ฐานที่ 4 ช่องเพดานปาก
ฐานที่ 5 ปากช่องลำคอ
ฐานที่ 6 ศูนย์กลางกาย ระดับสะดือ
ฐานที่ 7 ศูนย์กลางกาย ที่ตั้งของใจถาวร เหนือสะดือสองนิ้วมือ

อนึ่ง เมื่อนิมิตดวงกลมใสปรากฏแล้ว ณ กลางกาย ให้วางอารมณ์สบายๆกับนิมิตนั้น จนเหมือนกับว่าดวงนิมิตเป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ หากดวงนิมิตนั้นอันตรธานหายไป ก็ไม่ต้องนึกเสียดาย ให้วางอารมณ์สบาย แล้วนึกนิมิตนั้นขึ้นมาใหม่แทนดวงเก่า หรือเมื่อนิมิตนั้นปรากฏที่อื่นที่ไม่ใช่ศูนย์กลางกาย ให้ค่อยๆน้อมนิมิตเข้ามาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการบังคับ และเมื่อนิมิตมาหยุดสนิท ณ ศูนย์กลางกาย ให้วางสติลงไปยังจุดศูนย์กลางของดวงนิมิต ด้วยความรู้สึกคล้ายมีดวงดาวดวงเล็กๆอีกดวงหนึ่ง ซ้อนอยู่ตรงกลางดวงนิมิตดวงเดิม แล้วสนใจเอาใจใส่แต่ดวงเล็กๆตรงกลางนั้นไปเรื่อยๆ ใจจะปรับจนหยุดได้ถูกส่วน เกิดการตกศูนย์และเกิดดวงสว่างขึ้นมาแทนที่ ดวงนี้เรียกว่า “ดวงธรรม” หรือ “ดวงปฐมมรรค” อันเป็นประตูเบื้องต้นที่จะเปิดไปสู่หนทางแห่งมรรคผลนิพพาน การระลึกนึกถึงนิมิตสามารถทำได้ในทุกแห่ง ทุกที่ ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน หรือขณะทำภารกิจใดๆ

ข้อแนะนำ

คือ ต้องทำให้สม่ำเสมอเป็นประจำ ทำเรื่อยๆ ทำอย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น ซึ่งจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดความอยากจนเกินไป จนถึงกับทำให้ใจต้องสูญเสียความเป็นกลาง และเมื่อการฝึกสมาธิบังเกิดผลจนได้ดวงปฐมมรรค ที่ใสเกินใส สวยเกินสวย ติดสนิทมั่นคงที่ศูนย์กลางกายแล้ว ให้หมั่นตรึกระลึกถึงอยู่เสมอ อย่างนี้แล้ว ผลแห่งสมาธิจะทำให้ชีวิตดำรงอยู่บนเส้นทางแห่งความสุข ความสำเร็จ และความไม่ประมาทตลอดไป ทั้งยังจะทำให้สมาธิละเอียดลุ่มลึกไปตามลำดับอีกด้วย

เทคนิคเบื้องต้นในการทำสมาธิ

  1. หลับตาเบาๆ ผนังตาปิด 90%
  2. อย่าบังคับใจ เพียงตั้งสติ วางใจเบาๆ ณ ศูนย์กลางกาย กำหนดนิมิตเป็น ดวงแก้วใสๆ…เบาๆหรือ องค์พระใสๆ…เบาๆ หรือ ลมหายใจ เข้า-ออก…เบาๆ หรือ อาการท้อง พอง-ยุบ…เบาๆ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
  3. กำหนดนิมิต นึกนิมิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกุศโลบายล่อใจให้เข้ามาตั้งมั่นในกาย
  4. เมื่อใจเข้ามาหยุดนิ่งในกาย การกำหนดนิมิตก็หยุดโดยอัตโนมัติ
  5. รับรู้การเปลี่ยนแปลงภายในกายและจิตใจ ด้วยความสงบ
  6. อยู่ในความดูแลของกัลยาณมิตรอย่างใกล้ชิด

หลักการฝึกสมาธิ

  1. น้อมใจมาเก็บไว้ ณ ศูนย์กลางกาย แต่ละครั้งเก็บใจไว้ให้นานที่สุด จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยมีใจตั้งมั่นภายใน
  2. มีสติกำกับใจตลอดเวลา ทำให้ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส รู้ธรรมารมณ์ใดๆ (เช่น ในคำสรรเสริญ เยินยอ ยศศักดิ์ ชื่อเสียง ฯลฯ)
  3. ตั้งใจฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ และตรงเวลาเป็นประจำ
  4. มีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถจริง คอยควบคุม ให้คำแนะนำ อย่างใกล้ชิด

วิธีฝึกสมาธิเบื้องต้น

      สมาธิ คือ ความสงบ สบาย และความรู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งที่มนุษย์สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนากำหนดเอาไว้เป็นข้อควรปฏิบัติ เพื่อการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นสุข ไม่ประมาท เต็มไปด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญา อันเป็นเรื่องไม่เหลือวิสัย ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังวิธีปฏิบัติที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้เมตตาสั่งสอนไว้ ดังนี้

  1. กราบบูชาพระรัตนตรัย เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจให้นุ่มนวลไว้เป็นเบื้องต้น แล้วสมาทานศีลห้า หรือศีลแปด เพื่อย้ำความมั่นคงในคุณธรรมของตนเอง
  2. คุกเข่าหรือนั่งพับเพียบสบายๆ ระลึกถึงความดีที่ได้กระทำไว้ดีแล้วในวันนี้ ในอดีต และที่จะตั้งใจทำต่อไปในอนาคต จนราวกับว่าร่างกายทั้งหมดประกอบขึ้นด้วยธาตุแห่งคุณงามความดีล้วนๆ
  3. นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย นั่งให้อยู่ในท่าที่พอดี ไม่ฝืนร่างกายมากจนเกินไป ไม่ถึงกับเกร็ง แต่อย่าให้หลังโค้งงอ หลับตาพอสบายคล้ายกับกำลังพักผ่อน ไม่บีบกล้ามเนื้อตาหรือขมวดคิ้ว แล้วตั้งใจมั่น วางอารมณ์สบาย สร้างความรู้สึกให้พร้อมทั้งกายและใจว่า กำลังเข้าไปสู่สภาวะแห่งความสงบ สบายอย่างยิ่ง
  4. นึกกำหนดนิมิต เป็นดวงกลมใส ขนาดเท่าแก้วตาดำ ใสบริสุทธิ์ ปราศจากรอยตำหนิใดๆ ขาวใส เย็นตา เย็นใจ ดังประกายของดวงดาว ดวงแก้วกลมใสนี้เรียกว่า “บริกรรมนิมิต” นึกสบายๆ นึกเหมือนดวงแก้วนั้นมานิ่งสนิทอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด นึกไปภาวนาไปอย่างนุ่มนวล เป็นพุทธานุสติว่า “สัมมา อะระหัง” หรือค่อยๆน้อมนึกดวงแก้วกลมใสให้ค่อยๆเคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางกายตามแนวฐาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ฐานที่หนึ่งเป็นต้นไป น้อมนึกอย่างสบายๆ ใจเย็นๆ ไปพร้อมๆกับคำภาวนา
การฝึกสมาธิเบื้องต้นเท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดความสุขได้พอสมควร เมื่อซักซ้อมปฏิบัติอยู่เสมอๆไม่ทอดทิ้ง จนได้ดวงปฐมมรรคแล้ว ก็ให้หมั่นประครองรักษาดวงปฐมมรรคนั้นไว้ตลอดชีวิต ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดี ย่อมเป็นหลักประกันได้ว่า ได้ที่พึ่งของชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ที่จะส่งผลให้เป็นผู้มีความสุขความเจริญ ทั้งในภพชาตินี้และภพชาติหน้า เด็กเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เมตตาเด็ก ทุกคนมีความรักใคร่สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน หากสามารถแนะนำต่อๆกันไป ขยายไปยังเหล่ามนุษยชาติอย่างไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์ สันติสุขอันไพบูลย์ที่ทุกคนใฝ่ฝัน ก็ย่อมบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ข้อควรระวัง

  1. อย่าใช้กำลัง คือ ไม่ใช้กำลังใดๆทั้งสิ้น เช่น ไม่บีบกล้ามเนื้อตา เพื่อจะให้เห็นนิมิตเร็วๆ ไม่เกร็งแขน ไม่เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไม่เกร็งตัว ฯลฯ เพราะการใช้กำลังตรงส่วนใดของร่างการก็ตาม จะทำให้จิตเคลื่อนจากศูนย์กลางกายไปสู่จุดนั้น
  2. อย่าอยากเห็น คือ ทำใจให้เป็นกลาง ประคองสติมิให้เผลอจากบริกรรมภาวนา และบริกรรมนิมิต ส่วนจะเห็นนิมิตเมื่อใดนั้น อย่ากังวล ถ้าถึงเวลาแล้วย่อมเห็นเอง การบังเกิดของดวงนิมิตนั้น อุปมาเสมือนการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ เราไม่อาจจะเร่งเวลาได้
  3. อย่ากังวลถึงการกำหนดลมหายใจเข้าออก เพราะการฝึกสมาธิเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน อาศัยการนึกถึง อาโลกกสิณ คือ กสิณความสว่าง เป็นบาทเบื้องต้น
  4. เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิแล้ว ให้ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดที่เดียว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เช่น ยืน เดิน นอน หรือนั่ง อย่าย้ายฐานที่ตั้งจิตไปไว้ที่อื่นเป็นอันขาด ให้ตั้งใจบริกรรมภาวนา พร้อมกับนึกถึงบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส หรือองค์พระแก้วใส ควบคู่กันไปตลอด
  5. นิมิตต่างๆที่เกิดขึ้น จะต้องน้อมไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดทั้งหมด ถ้านิมิตเกิดขึ้นแล้วหายไป ก็ไม่ต้องตามหา ให้ภาวนาประคองใจต่อไปตามปกติ ในที่สุดเมื่อจิตสงบ นิมิตย่อมปรากฏขึ้นมาใหม่อีก