ประวัติ
สารบัญ
ประวัติก่อนบวช
ชาติกำเนิดและชีวิตวัยเยาว์
หลวงปู่ถือกำเนิดในตระกูล “มีแก้วน้อย” พ่อชื่อ นายเงินและ แม่ชื่อ นางสุดใจ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ที่บ้านสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
สมัยเด็กท่านเรียนหนังสือกับพระภิกษุน้าชายที่วัดสองพี่น้อง และศึกษาอักษรขอมที่วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม จนเขียนอ่านได้คล่อง หลังจบการศึกษาเบื้องต้น ออกมาช่วยบิดามารดาค้าขาย ซื้อข้าวบรรทุกเรือ ล่องมาขายให้โรงสีในกรุงเทพฯ และนครชัยศรี เป็นคนรักงาน ขยันขันแข็ง ทำอะไรทำจริง การค้าจึงเจริญโดยลำดับ จนมีฐานะดียิ่งขึ้น
เมื่อท่านอายุได้ 14 ปีโยมบิดาได้ถึงแก่กรรมลง ท่านจึงรับภาระดูแลการค้าแทน ท่านเป็นผู้ฉลาดในการปกครอง ลูกน้องต่างก็รักนับถือท่านและเนื่องจากท่านเป็นคนขยันขันแข็งในการทำงาน อาชีพการค้าจึงเจริญขึ้นโดยลำดับ จนปรากฏในยุคนั้นว่า ท่านเป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง
เข้าใจความจริงของชีวิต
เมื่อท่านอายุ 19 ปี วันหนึ่ง ท่านนำเรือเปล่ากลับบ้านพร้อมเงินรายได้จากการขายข้าว ผ่านลัดคลองเล็กซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “คลองบางอีแท่น” มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ท่านนึกถึงความตายขึ้นมา และได้อธิษฐานจิตในขณะนั้นว่า
“ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต”
“การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมี ก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอาย ไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า “
เมื่อตกลงใจว่าเมื่อได้บวชแล้ว จะไม่สึก จิตคิดเป็นห่วงมารดาเกิดขึ้น จึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์ เพื่อให้มารดาเอาไว้ใช้เลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต
อุปสมบท
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2449 ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า “จนฺทสโร” (อ่านว่า จัน-ทะ-สะ-โร)
เมื่ออุปสมบทแล้ว พอรุ่งขึ้นอีกวัน หลวงปู่ก็เริ่มลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานต่อกับพระอาจารย์เนียมวัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนในการเรียนด้านคันถธุระในพรรรษาแรก ท่านสงสัยอยากรู้คำแปล ของคำว่า “อวิชฺชาปจฺจยา” ซึ่งไม่มีใครทราบ ท่านจึงเกิดความคิดที่จะไปเรียนคันถธุระต่อที่กรุงเทพฯ
เมื่อออกพรรษาที่วัดสองพี่น้องแล้ว ท่านจึงเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จังหวัดกรุงเทพ เพื่อศึกษาด้านคันถธุระต่อ นอกจากนี้แล้วท่านก็มักไปแสวงหาครูสอนฝ่ายปฏิบัติสมถะ-วิปัสสนาอยู่เสมอๆ โดยการศึกษากับพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในสำนักต่างๆ จนได้ผลการปฏิบัติเป็นที่พอใจของพระอาจารย์ เมื่อได้ศึกษาภาวนาวิธีจนมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งจากพระอาจารย์ทั้งจากพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ
การเข้าถึงวิชชาธรรมกาย
วันบรรลุธรรม
ปี พ.ศ.2460 ในช่วงพรรษาที่ 11 ย่างเข้าพรรษาที่ 12 ท่านได้เดินทางจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปจำพรรษาที่ ณ วัดโบสถ์(บน) ตำบลบางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี อันเป็นสถานที่สงบวิเวก
ในวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ปี พ.ศ.2460 หลังจากได้ลงโบสถ์ร่วมฟังสวดพระปาฏิโมกข์กับหมู่สงฆ์แล้ว หลวงปู่ท่านได้เข้าไปนั่งสมาธิที่ในโบสถ์ ต่อหน้าพระประธาน แล้วได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า
“ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นคุณและเกิดประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานธรรมะอันยิ่งใหญ่นั้นด้วยเถิด ข้าพระองค์ขอรับเป็นทนายแก้ต่างในศาสนาของพระองค์ไปจนตลอดชีวิต แต่หากข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้วเป็นโทษแก่ศาสนาและไม่เกิดประโยชน์ ข้าพระพุทธเจ้าจักขอสละชีวิตปฏิบัติธรรมเป็นพุทธบูชาเพียงเท่านั้น”
ในที่สุดท่านนั่งสมาธิจนใจหยุดนิ่ง ได้พบกายภายในที่เป็นกายตรัสรู้ธรรม เป็นองค์พระปฏิมานั่งขัดสมาธิ ที่บนยอดพระเศียรเป็นลักษณะเกตุดอกบัวตูม ทั้งวรกายบริบูรณ์ด้วยลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการใส สว่าง งดงามไม่มีที่ติ การปฏิบัติธรรมจนถึงระดับนี้ เรียกว่า “เข้าถึงธรรมกาย” ท่านค้นพบว่าภายในกายของมนุษย์ทุกคนมีกายที่ละเอียดซ้อนเป็นชั้นๆอยู่ และทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมกายได้
(อ่านรายละเอียดวันบรรลุธรรมเพิ่มเติมได้ที่ “ลิงก์หน้าบรรลุธรรม”)
การเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
หลังจากที่บรรลุธรรมเข้าถึงธรรมกายแล้ว ท่านเห็นในสมาธิว่า จะมีผู้เข้าถึงธรรมกายตามท่าน ณ วัดบางปลา ภายหลังจากออกพรรษา หลวงปู่ได้ย้ายจากวัดโบสถ์บนไปที่วัดบางปลา ซึ่งอยู่ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งท่านได้สอนให้พระสงฆ์และสาธุชนฝึกสมาธิที่วัดบางปลา 4 เดือน ทำให้มีพระภิกษุ 3 รูปและคฤหัสถ์อีก 4 คน บรรลุธรรมตามอย่างท่าน
เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ
เมื่อปี พ.ศ.2461 ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงภาษีเจริญ (สังกัดการปกครองคณะสงฆ์) ได้อาราธนาให้หลวงปู่มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดปากน้ำ ซึ่งท่านได้เดินทางมาจำพรรษาพร้อมกับพระภิกษุผู้ติดตาม 4 รูป
หลวงปู่เป็นคนพูดจริงทำจริง การปกครองวัดจะเข้มงวด แต่ด้วยความที่ชอบการศึกษา จึงส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างสุดกำลังความสามารถ ควบคู่ไปกับการอบรมทางจิตใจ
กิจวัตรที่ปฏิบัติเป็นอาจิณ คือ การคุมภิกษุ สามเณรลงทำวัตรทุกเช้าและเย็น วันพระและวันอาทิตย์จะลงแสดงธรรมในโบสถ์เองเป็นนิจ นำพระให้ไปนั่งภาวนารวมอยู่กับท่านทั้งกลางวันและ กลางคืน และทุกวันพฤหัสบดี เวลาบ่ายสอง จะลงสอนการนั่งสมาธิแก่ภิกษุ-สามเณร อุบาสกอุบาสิกา
(จากหัวข้อประวัติของหลวงปู่ https://www.buddhistpedia.org/th/)
การพัฒนาวัดปากน้ำ
การตั้งโรงงานทำวิชชา
หลวงปู่ได้สอนการฝึกสมาธิเพื่อให้เข้าถึงธรรมกายที่วัดปากน้ำตลอดชีวิตของท่านนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2478-2502 ท่านได้จัดให้มีโรงงานทำวิชชาเพื่อฝึกสอนครูสอนภาวนาผู้เชี่ยวชาญที่มีธรรมะละเอียดลึกซึ้งในการปฏิบัติธรรมสายวิชชาธรรมกายหลายระดับชั้นเรียน ทีมทำวิชชาผลัดกันทำสมาธิเจริญภาวนาเป็นกะและทำสมาธิต่อเนื่องกันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาหยุดพักเลย งานที่ได้รับมอบหมายนี้เป็นงานเกี่ยวกับการค้นคว้าเรื่องทางจิตตามแนววิชชาธรรมกาย ในโรงงานทำวิชชา ผู้ที่จะเป็นครูฝึกสอนวิชชาธรรมกายต้องสละทุกสิ่งทุกอย่างทางโลก เพื่อให้มีความปลอดกังวลเป็นอิสระในการอุทิศชีวิต ท่านเหล่านั้นทำงานจนแทบไม่มีเวลานอนหลับ การปฏิบัติธรรมสายวิชชาธรรมกายเกี่ยวเนื่องกับวัดปากน้ำทำให้หลวงปู่ท่านเป็นที่รู้จักในชื่อที่เรียกขานกันว่า “หลวงพ่อวัดปากน้ำ” ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่เรียกท่านว่า “หลวงปู่”
(จากหัวข้อ โรงงานทำวิชชา https://www.interhq.org/article/?p=85)
การตั้งโรงครัว
เมื่อหลวงปู่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำในปี พ.ศ. 2459 ท่านได้ดำเนินการก่อตั้งโรงครัวขึ้นเพี่อถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรเพราะสมัยที่ท่านเคยอยู่วัดพระเชตุพนฯ และประสบความลำบากในเรื่องอาหารบิณฑบาต
ท่านจึงตั้งมโนปณิธานไว้ว่า เมื่อมีโอกาสจะตั้งโรงครัวเลี้ยงอาหารพระภิกษุสามเณร เพื่อจะได้มีเวลาและโอกาสในการศึกษาพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ และเป็นการสะดวกแก่ทายกทายิกาที่ต้องการจะทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรทั้งวัดด้วย เพียงแต่แสดงความประสงค์ที่จะเป็นเจ้าภาพและนำปัจจัยมามอบให้แก่ไวยาวัจกรทางวัดจะมีแม่ครัวหุงหาอาหารให้เสร็จเรียบร้อยทั้งมื้อเช้าและมื้อเพล เจ้าภาพเพียงแต่มาประเคนภัตตาหารเท่านั้น ถ้าาวันใดไม่มีผู้ใดมารับเป็นเจ้าภาพ หลวงปู่ก็ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเป็นค่าภัตตาหารเลี้ยงพระภิกษุสามเณรแทน ซึ่งเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่พระภิกษุไม่ต้องออกบิณฑบาต
ในปี พ.ศ. 2481 นั้นมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาประมาณ 150 รูป และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 600 รูปเศษ ถึงกระนั้นหลวงปู่ท่านก็ไม่เคยวิตกกังวลกับภาระนี้ ได้บริจาคทานมานาน ๓๗ ปีแล้ว
การปกครอง
ท่านบริหารงาน โดยใช้หลักการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพระภิกษุสามเณร ตลอดจนผู้ที่อยู่ในอุปการะ ดุจพ่อปกครองบุตรชายหญิงอันเกิดจากอกของตนเอง ให้ความเสมอภาคโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ยกย่องชมเชย ใครต้องการความช่วยเหลือจากท่าน ท่านก็ช่วยอุปการะปัดเป่าให้คลายทุกข์ด้วยความเมตตาปราณี แม้แต่ผู้ที่ออกจากความปกครองของท่านไปแล้ว ท่านยังคอยติดตามถามข่าว ด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าจะหลงลืมโอวาทที่ดีงามที่เคยกรุณาสั่งสอนไว้ ความเอื้ออาทรเหล่านี้ทำให้บรรดาลูกศิษย์ที่เคยอยู่ในความปกครองของท่าน พากันเรียกท่านจนติดปากว่า “หลวงพ่อ”
การศึกษา
ในฐานะที่ท่านเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่อยู่ในการปกครองของท่านจึงต้องเลือกเรียนสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างจริงๆ ใครไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติ ก็ให้ทำหน้าที่บริหารงานในวัด
แผนกคันถธุระ
ท่านได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นในวัด โดยจัดหาทุนเอง และได้จัดการศึกษานักธรรมและบาลีขึ้น เมื่อมีผู้มาศึกษามาก ในที่สุดก็ได้รับการยกฐานะให้เป็นสำนักเรียนโดยตรง และสำนักของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญก็ได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่านคอยส่งเสริมเอาใจใส่เรื่องการศึกษาของพระภิกษุ-สามเณรอยู่เสมอ พระภิกษุ-สามเณรที่สอบผ่านบาลี ท่านจะกล่าวชมเชยทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งยังหารางวัลให้เป็นกำลังใจอีกด้วย
สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนาทางปริยัตินั้นท่านจะเป็นผู้แสดงเองในวันอาทิตย์และวันธรรมสวนะที่พระอุโบสถเป็นประจำมิได้ขาด รวมทั้งวันอื่น ๆ ที่มีเจ้าภาพมาถวายภัตตาหารแล้วอาราธนาให้ท่านแสดงธรรม ท่านจะสอนให้พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสในการบำเพ็ญทาน การรักษาศีลและการเจริญภาวนา โดยยกชาดกและเรื่องจากธรรมบทมาเป็นอุทาหรณ์ ลงท้ายด้วยการสอนเจริญภาวนา ทำให้ผู้ฟังมีความเข้าใจเรื่องราวในพระพุทธศาสนาอย่างละเอียดลึกซึ้ง และได้รับความสนุกสนานด้วย
การแสดงธรรมท่านยังได้จัดให้พระภิกษุสามเณรหัดทำการเทศนาเดี่ยวบ้าง หัดเทศน์ปุจฉาวิสัชนา 2 – 3 ธรรมาสน์บ้าง แล้วจัดให้ทำการแสดงพระธรรมเทศนา ณ ศาลาการเปรียญตลอดฤดูการเข้าพรรษา จากการฝึกฝนนี้ทำให้พระภิกษุสามเณรของวัดปากน้ำหลายรูปได้เป็นพระธรรมกถึกและได้รับการอาราธนาให้ไปแสดงพระธรรมเทศนานอกสำนักอยู่เสมอๆ
แผนกวิปัสสนาธุระ
เป็นวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้ศึกษาค้นคว้ามาตั้งแต่เริ่มอุปสมบทวันแรกเมื่ออายุ 22 ปี เป็นต้นมาจนกระทั่งอายุ 70 ปี ขณะที่ท่านเปิดสอนปริยัติ ท่านก็สอนปฏิบัติควบคู่ไปด้วย มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์มาปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้วัดปากน้ำในครั้งนั้นมีชื่อเสียงไม่เฉพาะเพียงแต่ด้านปริยัติธรรมเท่านั้น ในด้านวิปัสสนาก็มีชื่อเสียงมากเช่นกัน เพราะมีผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมและเข้าถึงธรรมกายเป็นจำนวนมาก
อาพาธและมรณภาพ
นับตั้งแต่หลวงปู่วัดปากน้ำดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย การจัดตั้งโรงครัว การบูรณปฏิสังขรณ์ เสนาสนะต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือผู้คนที่มาขอพึ่งบารมีของท่าน เพื่อบรรเทาทุกข์ยาก ท่านได้ทุ่มเทชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนา จนมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก ทำให้สุขภาพทางกายทรุดโทรม แต่ทางด้านจิตใจยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม ท่านไม่ยอมทอดทิ้งธุระที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร ยังคงออกเทศน์สอนนั่งภาวนาแจกพระของขวัญตามปกติ ท่านไม่ชอบทำตนให้เป็นภาระของผู้อื่น แม้เวลาอาพาธก็ไม่ยอมให้ใครพยุงลุกนั่ง เรื่องภัตตาหารก็ไม่จู้จี้ ไม่เรียกร้องในเรื่องการขบฉัน ใครทำมาถวายอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น
ในปี พ.ศ.2499 หลวงปู่อาพาธหนักมากด้วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและไส้เลื่อน จำเป็นต้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราชในกรุงเทพมหานคร ต่อมาสุขภาพของท่านทรุดหนักขึ้นต้องนำส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์อีกถึงสองครั้ง หลวงปู่ท่านรู้ว่าอาการป่วยของท่านเกินจะเยียวยาแล้ว ท่านได้บอกพระภิกษุผู้ใกล้ชิดว่า นี้เป็นวิบากกรรมส่งผลมาจากอดีตชาติเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น แม้ว่าคณะแพทย์จะถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม ท่านบอกว่าไม่มียาอะไรที่รักษาท่านได้เป็นผลของกรรม เปรียบเสมือนมีหินมาขวางไม่ให้ตัวยาผ่านเข้าสู่ร่างกายจึงไม่สามารถรักษาได้อย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อท่านอาพาธหนักได้เรียกศิษย์ให้ดำเนินการสอนเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป ก่อนที่หลวงปู่จะมรณภาพ ท่านได้พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับวัดว่า วัดปากน้ำจะมีชื่อเสียงมาก จะมีลูกศิษย์ใหม่เข้ามาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ท่านได้ยืนยันว่าวัดจะมีความเจริญรุ่งเรือง ท่านได้มีคำสั่งไม่ให้เผาร่างของท่าน ให้นำไปเก็บรักษาไว้ โดยบอกว่า “คนตายแล้วจะเลี้ยงคนที่มีชีวิตอยู่” เป็นการบอกเป็นนัยยะว่า ร่างของท่านจะดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาแสวงบุญเยี่ยมชมวัดปากน้ำ และสักการบูชาร่างของท่าน และผู้มาแสวงบุญก็จะบริจาคให้แก่วัดด้วย นี้เป็นการหล่อเลี้ยงวัด เป็นการเลี้ยงคนเป็น (คนที่มีชีวิตอยู่) ผู้ที่มาแสวงบุญจะได้ฝึกการนั่งสมาธิตามเสียงเทปบันทึกเสียงของหลวงปู่ที่แนะนำการสอนสมาธิเจริญภาวนาในบริเวณห้องที่มีศพของท่านทอดร่างอยู่ (จากหัวข้อ วัดปากน้ำ https://www.interhq.org/ )
พระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านถึงแก่ มรณภาพอย่างสงบสมดังเช่นจอมทัพธรรม ที่ตึกมงคลจันทสร วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 เวลา 15.05 น .สิริรวมอายุ 75 ปี พรรษา 53
(จากเว็บประวัติชีวิตของหลวงปู่) https://www.buddhistpedia.org/th/ และเพิ่มเติมจาก https://www.dmc.tv)
สมณศักดิ์
– เป็นฐานานุกรม ที่พระครูสมุห์
– 12 ธันวาคม พ.ศ. 2464 เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่
พระครูสมณธรรมสมาทาน
– 4 ธันวาคม พ.ศ. 2492 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่
พระภาวนาโกศลเถร
– พ.ศ. 2494 ได้รับพระราชทานพัดยศสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
– 5 ธันวาคม พ.ศ. 2498 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่
พระมงคลราชมุนี สุทธศีลพรตนิเวฐ เจษฎาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
– 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่
พระมงคลเทพมุนี ศรีรัตนปฏิบัติ สมาธิวัตสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/
ศิษยานุศิษย์สำคัญ
คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี (หลวงปู่ท่านกล่าวถึงว่า “ลูกจันทร์นี่ หนึ่งไม่มีสอง”)