ธรรมยาตรา

ย้อนรอยระลึกถึงเส้นทางการสร้างบุญบารมีตลอดชีวิตของมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

สารบัญ

ธรรมยาตราคืออะไร ?

โครงการธรรมยาตรา

“รักษ์บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) และรักษาศีล 5”

      การเดินธรรมยาตราของพุทธบุตรธรรมทายาท เพื่อย้อนรอยระลึกถึงเส้นทางการสร้างบุญบารมีตลอดชีวิตของมหาปูชนียาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย

      ตลอดชีวิตของพระภิกษุเป็นชีวิตของผู้ทรงภูมิธรรมอันสูงส่ง ในห้วงแห่งสังสารวัฏอันยาวไกลที่อันตรายมากมายนี้ชีวิตนักบวช เตือนให้เข้าใจว่าชีวิตเป็นทุกข์ ด้วยว่าชีวิตของผู้ครองเรือนทั่วไปนั้น การดำเนินชีวิตของคนทั้งหลายล้วนต้องวนเวียนอยู่ในเรื่องความรับผิดชอบต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว จึงควรที่จะหาหนทางให้โอกาสแก่ตัวเอง อุทิศเวลาให้กับการสั่งสมบุญคุณความดีเพื่อจะได้เข้าถึงเป้าหมายแห่งความสุขอย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน

      ชีวิตสมณะเป็นชีวิตที่ทวนกระแสกิเลสอย่างโลกๆ มีอิสรภาพปลอดโปร่งจากความวิตกกังวลและความผูกพันทั้งหลาย มีความสำรวมสงบอย่างสง่างามน่าเลื่อมใสทั้งในความคิด คำพูดและการกระทำ พระภิกษุจะให้ความจดจ่อสนใจระมัดระวังในศีลของท่านอันเป็นพุทธวินัย การปฏิบัติสมาธิภาวนาและการพัฒนาจิตใจให้มีดวงปัญญาบริสุทธิ์

       เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว จะต้องผ่านพ้นการฝึกฝนอบรมตนเองในเรื่องวินัย ความเคารพ และความอดทน การเดินธรรมยาตราเป็นบทฝึกอย่างหนึ่งสำหรับพระภิกษุผู้บวชใหม่ คำว่า ธรรมยาตรา มีรากศัพท์มาจากคำว่า “ธรรมะ” กับคำว่า “ยาตรา”

       คำว่า“ธรรมะ” หมายถึง สภาวธรรมความดี ส่วนคำว่า “ยาตรา” หมายถึง ความเป็นไปแห่งชีวิต หรือความออกไปจากทุกข์ ดังนั้นคำว่า ธรรมยาตรา หมายถึง การดำเนินไปด้วยธรรม ซึ่งมีความหมายว่า การดำเนินออกไปจากทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจด้วยธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือมีอีกความหมายหนึ่งว่าเป็นธรรมจาริก หมายถึง การเดินทางเพื่อประกาศธรรม นัยสำคัญอยู่ที่การเดินทางเพื่อประกาศธรรมด้วยทางเท้าของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเป็นหมู่ใหญ่ไปยังทุกทิศทุกทางในหลายๆ แห่ง เพื่อเผยแผ่คุณธรรมความดีและยังเป็นกุศโลบายวิธีการฝึกฝนอบรมตนเองของพระภิกษุเพื่อเอาชนะแก้ไขนิสัยความไม่ดีต่างๆ ด้วยคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โครงการธรรมยาตราครั้งที่ 11 ซึ่งมีพระภิกษุในพระพุทธศาสนาร่วมเดินธรรมยาตรา โดยเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 2-31 มกราคม พุทธศักราช 2566 ตลอดเส้นทางธรรมยาตรานั้นประชาชนทั่วไปจะได้มีโอกาสอนุโมทนาสาธุการตามเส้นทางที่โปรยด้วยกลีบดอกไม้เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ภาพอันเป็นมงคลยิ่งที่ได้เห็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่พร้อมเพียงกันเดินทางด้วยความสงบสง่างามน่าเลื่อมใส เป็นแรงบันดาลใจสร้างศรัทธาให้แก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และตอกย้ำความประทับใจให้แก่ผู้เลื่อมใสอยู่แล้วย่อมเลื่อมใสหนักแน่นยิ่งขึ้น

     การโปรยดอกไม้บนทางเท้าเพื่อต้อนรับพระภิกษุสงฆ์ได้เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล ดังจะเห็นปรากฏจารึกในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำพระสงฆ์สาวก เดินธุดงค์ธรรมยาตรา ด้วยว่าครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่มากเกิดขึ้นที่เมืองไวสาลี ประชาชนเมืองนั้นได้รับทุกขเวทนาจากโรคระบาดร้ายแรงอย่างมากมายจนมีผู้คนล้มตายศพทับถมกองราวกับเป็นภูเขาสูง 

      ในเวลาเช่นนั้นทางการเมืองไวสาลีได้กราบอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสด็จไปโปรด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับอาราธนาแล้วทรงเสด็จธรรมยาตราพร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ 500 รูป ออกจากเมืองราชคฤห์โดยพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงตระเตรียมเส้นทางการเดินทางตลอดระยะ 80 กิโลเมตรด้วยการประดับธงทิวและตราสัญลักษณ์ มีฉัตรมีร่มกางกั้นและโปรยกลีบดอกไม้นานาชนิด 5 สีบนทางเท้าชาวเมืองที่พักอาศัยตามรายทางต่างออกมาช่วยกันทำความสะอาดถนนหนทาง ต่างก็ช่วยกันประดับตกแต่งพวงดอกไม้อันวิจิตรประณีต พร้อมกับโปรยกลีบดอกไม้นานาชนิด 10 สีเพื่อเป็นการแสดงความเคารพบูชาและต้อนรับการเดินธรรมยาตราของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์

ชีวิตการสร้างบารมีของพระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ มหาปูชนียาจารย์ท่านนี้มีความสำคัญต่อเส้นทางการเดินธรรมยาตราอย่างไร?

      ตลอดเส้นทางธรรมยาตราของพระธรรมทายาทในโครงการครั้งนี้ นอกจากเป็นโอกาสของท่านทั้งหลายในการฝึกฝนอบรมตนเองแล้ว ยังเป็นการน้อมตรึกระลึกถึงมหากรุณาอันยิ่งใหญ่สุดประมาณของมหาปูชนียาจารย์พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเป็นผู้ทรงคุณธรรมอันเปี่ยมล้น ทรงอานุภาพอย่างจะประมาณมิได้ ท่านได้สละชีวิตเป็นเดิมพันในการสั่งสมบุญบารมีตามรอยบาทพระบรมศาสดา อุทิศชีวิตตลอดเวลาเพื่อฝึกฝนตนเองและแนะนำสั่งสอนสาธุชนในการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพระธรรมกาย ทำให้มีผู้บรรลุธรรมตามท่านทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นการบรรลุถึงเป้าหมายได้ที่พึ่งแท้จริงอันสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ผู้ได้พบพระพุทธศาสนา

7
อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง เส้นทางมหาปูชนียาจารย์
อนุสรณ์สถานมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (โลตัสแลนด์)

สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ
ตั้งอยู่บนแผ่นดินรูปดอกบัว มีน้ำล้อมรอบ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

ลำดับที่ 1
อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น

สถานที่ตั้งมโนปณิธานว่าจะบวชตลอดชีวิต
ตั้งอยู่ริมคลองบางนางแท่น อ.สามพราน จ.นครปฐม

ลำดับที่ 2
วัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง)

สถานที่เกิดใหม่ในเพศสมณะ
ตั้งอยู่วัดสองพี่น้อง (พระอารามหลวง) อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

ลำดับที่ 3
วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง

สถานที่เกิดใหม่ด้วยกายธรรม
ตั้งอยู่วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ลำดับที่ 4
อนุสรณ์สถานบางปลา

สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกายครั้งแรก
ตั้งอยู่บนแผ่นดินตรงข้ามวัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม

ลำดับที่ 5
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (พระอารามหลวง)

สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
ตั้งอยู่วัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

ลำดับที่ 6
มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดพระธรรมกาย

สถานที่ขยายวิชชาธรรมกาย
ตั้งอยู่วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ลำดับที่ 7

          เส้นทางมหาปูชนียาจารย์นี้ เกี่ยวเนื่องถึงพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพระภิกษุผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมและคุณวิเศษที่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหมั่นฝึกฝนตนเองจนกระทั่งสามารถพิสูจน์ให้ชาวโลกได้รู้เห็นว่าพระพุทธศาสนา คือที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดจริงๆ เส้นทางมหาปูชนียาจารย์นี้เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ 7 แห่ง ในประวัติศาสตร์ ชีวิตของหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

วัตถุประสงค์ของธรรมยาตรา หรือจาริกไปโดยธรรมมี 3 ประการ

  1. เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน อนุเคราะห์ชาวโลก และเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ คือ การจาริกแต่ละครั้งทุกคนได้ประโยชน์แม้กระทั้งเทพเทวาด้วย
  2. ต้องแสดงธรรมหรือประกาศธรรมจะมากน้อยก็ได้ แต่ต้องงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะครบบริบูรณ์บริสุทธิ์
  3. สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี หมายถึงคนที่มีศรัทธาและปัญญามีบุญบารมีพอ ดีจะบรรลุธรรมนั้นมีอยู่ ถ้าไม่มีการจาริกไม่มีการแสดงธรรมก็จะเสื่อมเสียจากประโยชน์สุข สำหรับคนที่ยังไม่เลื่อมใสและมีปัญญาน้อยไม่ได้ถือเป็นประมาณ แต่ก็จะได้เป็นอุปนิสัยติดตัวต่อไปในภายภาคเบื้องหน้า

ธรรมยาตราในสมัยพุทธกาลมีอย่างไรบ้าง

ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงนำพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก เดินธุดงค์ธรรมยาตรา จากเมืองสู่เมืองเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาทิ

            ในสมัยพุทธกาล เมืองไพศาลี หรือเวสาลี นครหลวงแห่งอาณาจักรวัชชี มีการปกครองระบอบสามัคคีธรรม (คล้ายกับลักษณะสาธารณรัฐในปัจจุบัน) เป็นเมืองที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ มีประชาชนอยู่หนาแน่น ต่อมาเมืองไพศาลีเกิดภัย๓ประการคือ 

๑.ข้าวยากหมากแพง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าแห่งเหี่ยวตาย เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ 

๒.มีโรคระบาดพวกคนยากคนจนอดอยากล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ซากศพถูกนำไปทิ้งไว้นอกเมืองก็ส่งกลิ่นเหม็นตลบไป 

๓.พวกอมนุษย์ก็พากันเข้าเมืองคนยิ่งล้มตายกันมากขึ้น เกิดอหิวาตกโรคตามมา เป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

        กษัตริย์ลิจฉวีซึ่งมีจำนวนถึง ๗,๗๐๗ องค์ จึงให้ประชาชนประชุมพร้อมกันในสัณฐาคาร (ห้องประชุมใหญ่) เพื่อร่วมกันพิจารณาสอดส่องความประพฤติของบรรดากษัตริย์ทั้งหลายว่า ได้ทำผิดศีล หรือมีพฤติกรรมอันใดที่ไม่ดี จึงทำให้เกิดภัยต่าง ๆ ดังกล่าว
        เมื่อไม่เห็นว่ากษัตริย์ทั้งหลายทำความผิดมีโทษอันใด จึงหาทางระงับภัย ๓ ประการนั้น โดยเห็นร่วมกันว่าควรกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่พระนครราชคฤห์ จึงได้ส่งเจ้าลิจฉวี ๒ องค์ เป็นฑูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ณ พระนครราชคฤห์

         เจ้าลิจฉวีทั้งสองจึงได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลขอเวลาตกแต่งหนทางตั้งแต่เมื่องราชคฤห์ ไปจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคาเป็นระยะทางประมาณ ๘๐ กิโลเมตร และโปรดให้สร้างวิหารไว้สำหรับพักตามระยะทางอีก ๕ หลัง

          พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้กั้นเศวตฉัตร (ร่มขาว) ถวายพระพุทธเจ้า ๒ คันและกั้นถวายภิกษุสงฆ์ที่ติดตามอีก ๕๐๐ รูป รูปละ ๑ คัน พระองค์ได้ตามเสด็จไปพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงถวายเครื่องสักการบูชา ของหอมและทรงบำเพ็ญกุศลถวายทานตลอดทางไปจนถึงฝั่งขวาของแม่น้ำคงคา และทรงส่งข่าวสารไปยังเมืองไพศาลีให้ทราบว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงพระดำเนินลงไปในน้ำลึกจนถึงพระศอ (คอ) เพื่อส่งพระบรมศาสดาข้ามฝั่งแม่น้ำคงคา

         ทางเมืองไพศาลี ซึ่งตั้งอยู่ห่างฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคาขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เมื่อทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว ก็เตรียมปราบทางให้ราบเรียบตั้งแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคาไปจนถึงเมืองไพศาลี และสร้างวิหารประจำไว้จำนวน ๓ หลัง เตรียมทำการบูชาเป็น ๒ เท่า     ของพระเจ้าพิมพิสารที่ทรงทำมาแล้ว เรือขนานนำพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป มาในแม่น้ำคงคาเป็นระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร ก็ถึงเขตเมืองไพศาลี บรรดากษัตริย์ลิจฉวีก็พากันลุยนำลงรับเสด็จพระพุทธเจ้าในแม่น้ำคงคาถึกถึงพระศอเช่นกัน

         ครั้นเรือขนาบเทียบถึงฝั่ง พอพระพุทธเจ้าทรงยกพระบาทแรกย่างเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา กลุ่มเมฆมหึมาซึ่งแผ่กระจายตั้งเค้ามืดมิดก็บันดาลให้ฝนตกลงมาห่าใหญ่ น้ำฝนไหลนองท่วมพื้นดินระดับน้ำสูงถึงเข่าบ้างถึงสะเอวบ้าง ถึงคอบ้าง พัดพาเอาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด ทำให้ภาคพื้นดินบริสุทธิ์สะอาดโดยทั่วไป
       พระพุทธเจ้าเสด็จถึงประตูเมืองไพศาลีในเวลาเย็น ได้ตรัสให้พระอานนท์เรียน “รัตนสูตร” เพื่อเดินจาริกทำพระปริตไปในระหว่างกำแพง ๓ ชั้น ในเมืองไพศาลีกับบรรดากุมารลิจฉวีแล้วตรัส “รัตนสูตร” ขึ้นในกาลครั้งนั้น ที่เรียกพระสูตรนี่ว่า “รัตนะ” เพราะหมายถึง พระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ

         เมื่อพระอานนท์เรียนรัตนสูตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เอาบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำถือไปยืนที่ประตูเมือง พลางรำลึกถึงพระพุทธคุณตั่งแต่ทรงตั้งความปราถนาที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณ จนถึงทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรและโลกุตรธรรม ๙ (คือมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ ) แล้วเข้าไปภายในพระนคร เดินสวดมนต์และสาดน้ำมนต์ไปในระหว่างกำแพงเมือง ๓ ชั้น ทำให้พวกอมนุษย์ที่ยังหลวงเหลืออยู่บ้างพากันหนีออกจากเมืองไปหมด พวกชาวเมืองจึงออกจากบ้านของตนถือดอกไม้และของหอม พากันตามบูชาพระอานนท์แห่ล้อมท่านมา พระอานนท์เดินสวดมนต์ไปทั้งคืน   พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่เมืองไพศาลี และตรัสเทศนารัตนสูตรทุกวันรวม ๗ วัน เมื่อทรงเห็นว่าภัยทุกอย่าง สงบเรียบร้อยแล้วจึงตรัสลากษัตริย์ลิจฉวีและชาววัชชีทั้งหลายเสด็จกลับราชคฤห์ ครั้งนี้มีประชาชนมาบูชาสักการะถวายแก่พระองค์เป็นการยิ่งใหญ่เพื่อส่งพระพุทธองค์ข้ามแม่น้ำคงคา

 

         พระภิกษุในโครงการอุปสมบทหมู่ 1 แสนรูปทุกหมู่บ้านทั่วไทยซึ่งอบรมตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในช่วงท้ายการอบรมจะมีการเดินธุดงค์ บวชที่จังหวัดใดก็เดินธุดงค์ที่จังหวัดนั้น ถือเป็นการไปโปรดญาติโยมและเป็นการฝึกตัวอย่างเข้มข้น

         หลังออกพรรษา ผู้ที่มีศรัทธาบวชต่อไม่สึกส่วนหนึ่งประมาณ 1,000 รูป จะมารวมตัวกันที่วัดพระธรรมกาย ฝึกอบรมธรรมปฏิบัติอย่างเข้มข้น นั่งสมาธิวันละ 10 ชั่วโมง เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อเตรียมกาย วาจา ใจ ให้ใสบริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญให้กับญาติโยม และจะเดินธุดงค์ธรรมยาตราผ่านจังหวัดต่างๆ รวมทั้ง กทม. ระยะทาง 400 กว่ากิโลเมตร เพื่อปลุกกระแสชาวพุทธให้ตื่นตัว เป็นการปฏิบัติตามพุทธโอวาท ที่ให้เที่ยวจาริกไปเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งจะต้องเดินจาริกไปในย่านชุมชน เพราะจะไปโปรดญาติโยม ส่วนการเดินธุดงค์ในป่าเป็นการเดินเพื่อฝึกตัวเอง

(ข้อมูลเพิ่มเติมจาก https://www.dmc.tv/dhammayatra)

(เนื้อเรื่องแคว้นวัชชี มีแปลจีนแล้ว จาก https://www.interhq.org/ และhttps://www.dmc.tv/dhammayatra/ )

กิจกรรมในโครงการธรรมยาตราฯ

1. โปรยกลีบดอกไม้ต้อนรับพุทธบุตรธรรมยาตรา

2. เด็ดกลีบดอกไม้เพื่อใช้ต้อนรับพุทธบุตรธรรมยาตราที่วัดพระธรรมกาย

3. การถวายภัตตาหารน้ำปานะพุทธบุตรธรรมยาตรา

4. สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม ร่วมกับพุทธบุตรธรรมยาตรา

5. ตักบาตรพุทธบุตรธรรมยาตราในแต่ละอนุสรณ์สถานฯ

6. จุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชาและมหาปูชนียาจารย์ ในพื้นที่อนุสรณ์สถาน

7. พิธีถวายสังฆทานและมอบทุนการศึกษา

8. บำรุงวัด ตามเส้นทางมหาปูชนียาจารย์

9. ร่วมเป็นอาสาสมัครรับบุญต่างๆ ในโคงการธรรมยาตราฯ เช่น บุญปูเสื่อ บุญลงกลีบดอกไม้ บุญสนับสนุนต่างๆ

อานิสงส์แห่งการกล่าวสาธุการต้อนรับพระธรรมยาตรา

  1. ทำให้เป็นผู้ที่มีกิตติศัพท์อันงดงามทั้งในหมู่มนุษย์และเทวดา
  2. มีเสียงอันไพเราะก้องกังวานลึก
  3. ไปในที่ใดย่อมได้รับการต้อนรับสรรเสริญ
  4. มีทิพยสมบัติ วิมาน และบริวาร รุ่งเรืองสว่างไสว
  5. ได้รูปสมบัติที่งดงามได้สัดส่วน
  6. ปากสวย ฟันสวย เพราะเปล่งสาธุการต้อนรับผู้มีศีล
  7. ละสังขารแล้วมีสุคติภพเป็นที่ไป ไม่ไปสู่อบาย
  8. เทวดา พรหม อรูปพรหมทั้งหลายสรรเสริญ อนุโมทนาบุญ
  9. ได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยสะดวก โดยเร็วพลัน

(ข้อมูลจาก https://www.dhammayatra.org/ )

ผู้ร่วมกิจกรรม

Fridolin Holzer ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี: ที่นี่สวยและน่าอยู่มากและคนดีที่มีความสุขอยู่มากมาย พวกเขาทำงานหนักเพื่อให้งานนี้เกิดขึ้น เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก ถ้าคนทั่วโลกได้เข้าร่วมงานนี้ ก็คงจะคิดเหมือนกันว่าที่นี่สวยงาม และพวกเขาต้องมีความสุขที่ได้มาที่นี่ด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าพุทธศาสนายิ่งใหญ่ เพราะชาวพุทธดูมีความสุข และพระพุทธเจ้าทำประโยชน์ให้กับโลกนี้มากมาย

ตัวแทนคณะสาธุชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มาร่วมต้อนรับคณะพระธุดงค์ : ภูมิใจกว่าที่เห็นใน DMC ได้เห็นของแท้ อยากให้ทุกๆ คนได้เห็น ได้ต้อนรับพระธุดงค์ มีบุญได้มากราบ มาไหว้ เพราะพระเป็นพันๆ รูป ที่บวชแล้วปฏิบัติธรรมถึงได้เดินธุดงค์

ตัวแทนชาวมอญที่มาร่วมต้อนรับคณะพระธุดงค์ : เราที่มาโปรยดอกดาวรวยวันนี้ก็ดีใจ ปลื้มมาก ทั้งพม่า ทั้งมอญ ทั้งไทย ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็น

กัลฯ จิรัญญ์ วงษ์ผึ้ง นักเรียนโรงเรียนคณะราษฏร์บำรุงปทุมธานี : ประทับใจมากๆ เลยค่ะที่ได้มารับ รู้สึกได้บุญเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ อยากให้มีทุกปี ประชาชนอย่างเราก็ไม่ค่อยมีเวลาเข้าวัด แต่นี้พระสงฆ์มาถึงในเมืองก็เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ หาโอกาสแบบนี้ไม่ได้แล้ว

ข้อมูลโครงการธรรมยาตรา ในแต่ละปี

ปีที่ 1 พ.ศ. 2555 (2-25 ม.ค.)
  • ธุดงค์ธรรมชัย สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ 6 จังหวัด รับปี พ.ศ.2555 “ปัดเป่าผองภัย – สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน”
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,127 รูป ระยะทาง 365 กิโลเมตร
ปีที่ 2 พ.ศ. 2556 (2-27 ม.ค.)
  • โครงการธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางมหาปูชนียาจารย์พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ปีที่ 2 สืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย ถวายเป็นพุทธบูชา ประจำปี 2556 ฟื้นฟูจิตใจ สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,128 รูป ระยะทาง 446 กิโลเมตร
ปีที่ 3 พ.ศ. 2557 (2-28 ม.ค.)

  • ธุดงค์ธรรมชัยเส้นทางพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ปีที่ 3 ต้อนรับศักราชใหม่ เติมบุญใหญ่ให้ชีวิต
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,129 รูป ระยะทาง 459 กิโลเมตร
ปีที่ 4 พ.ศ. 25558 (2-25 ม.ค.)

  • ธุดงค์ธรรมชัย” 6 จังหวัด รับปี พุทธศักราช 2555 ปัดเป่าผองภัย 

  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,130 รูป ระยะทาง 365 กิโลเมตร
ปีที่ 5 พ.ศ. 2559 (2-31 ม.ค.)
  • โครงการธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 5
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,131 รูป กิจกรรมบำรุงวัด
ปีที่ 6 พ.ศ. 25561 (2-31 มี.ค.)
  • โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 6 “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5” เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,134 รูป กิจกรรมบำรุงวัด
ปีที่ 7 พ.ศ. 2562 (2-31 ม.ค.)
  • ธรรมยาตรา ปีที่ 7 “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5”
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,135 รูป กิจกรรมบำรุงวัด
ปีที่ 8 พ.ศ. 2563 (2-31 ม.ค.)
  • โครงการธรรมยาตราเส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 8 “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5”
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,136 รูป กิจกรรมบำรุงวัด
ปีที่ 9 พ.ศ. 2564 (6-31 ม.ค.)
  • โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 9 “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5”
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,250 รูป ออนไลน์
ปีที่ 10 พ.ศ. 2565 (2-31 ม.ค.)

  • โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 10 “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5”
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,138 รูป ออนไลน์
ปีที่ 11 พ.ศ. 2566 (2-31 ม.ค.)
  • โครงการธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 11   
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,139 รูป กิจกรรมบำรุงวัด
ปีที่ 12 พ.ศ. 2567 (2-31 ม.ค.)

  • โครงการธรรมยาตรา กตัญญูบูชา มหาปูชนียาจารย์ พระผู้ปราบมาร อนุสรณ์สถาน 7 แห่ง ปีที่ 12   
  • พุทธบุตรธรรมยาตรา 1,140 รูป ออนไลน์