การทำบุญ

ทาน คือ การให้

“ทาน”การให้นี่เป็นนโยบายของบัณฑิตทั้งหลาย แต่ไหนแต่ไรมา คนมีปัญญาแล้วก็ต้องให้ทาน ถ้าคนโง่แล้วเห็นว่าสิ้นหมดไป ถ้าว่าคนมีปัญญาแล้วเห็นว่ายิ่งให้ยิ่งมียกใหญ่การให้นั้นแหละเป็นข้อสำคัญนัก ไม่ต้องไปขอร้องใคร ทำอะไรสำเร็จหมดด้วยการให้ แต่ว่าต้องฉลาดให้ ถ้าโง่ให้ยิ่งจนใหญ่ ถ้าฉลาดให้ยิ่งให้ยิ่งรวยใหญ่ ฉะนั้นการให้ ถ้าอยากมีสมบัติยิ่งใหญ่มหาศาลละก็ต้องอุตส่าห์บำเพ็ญทาน บริจาคทานนี้ได้ชื่อว่า “ทานญฺจ” ทานคือการให้.ที่มา,หน้า ๗๓๖/๗๓๗/๗๓๘ บรรทัดที่ ๑๕/๑๓/๙  (กัณฑ์ที่๕๗ สังคหวัตถุ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

การรักษาดวงบุญ

เมื่อเราได้บุญแล้ว เราจะทำอย่างไร เราจะรักษาบุญอย่างไร เพราะเราไม่เห็นบุญ…เราต้องเอาใจไปจรดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ของเรา ทำใจให้หยุดให้นิ่ง บังคับใจให้หยุดให้นิ่งว่าบุญของเรามีอยู่ตรงนี้ ถ้าพอใจหยุดได้แล้วและถูกส่วนเข้าแล้วเราจะเห็นดวงบุญของเรา…เห็นชัดเจนทีเดียว ถ้าเราไปเห็นดวงบุญเช่นนั้น เราจะปลาบปลื้มใจสักเพียงใด ย่อมดีอกดีใจเป็นที่สุด…จะหาเครื่องเปรียบเทียบไม่ได้เลย.ที่มา,หน้า ๔๐๔ บรรทัดที่ ๑๑-๑๕  (กัณฑ์ที่๓๐ ภัตตานุโมทนากถา ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

การทำบุญเลี้ยงพระ

การทำบุญเลี้ยงพระเช่นนี้ถูกต้องตำรับ ตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะพระองค์ทรงรับสั่งไว้ว่า “ โภชนํ ภิกฺขเว ททมาโน ทายโก” ทายกผู้ให้ทานโภชนาหาร “ ปฏิคฺคาหกานํ ปญฺจ  ฐานานิ เทติ”  ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ประการแก่ปฏิคาหก“ กตมานิ ปญฺจ ฐานานิ” ฐานะ ๕ประการเป็นไฉน“อายํ เทติ” ชื่อว่าให้อายุประการหนึ่ง“วณฺณํ เทติ” ชื่อว่าให้วรรณะปประการหนึ่ง“สุขํ เทติ” ชื่อว่าให้ความสุขประการหนึ่ง“พลํ เทติ” ชื่อว่าให้กำลังประการหนึ่ง“ปฏิภาณํ เทติ” ชื่อว่าให้ความเฉลียวฉลาดประการหนึ่ง…ที่มา,หน้า ๔๐๓ บรรทัดที่ ๒๕-๒๘ หน้า๔๐๔ บ,๑-๓ (กัณฑ์ที่๓๐ ภัตตานุโมทนากถา ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๗)

นึกถึงบุญ

“ ต้องนึกถึงบุญ สิ่งอื่นอย่าไปนึก นึกถึงบุญแต่เพียงอย่างเดียว เมื่อต้องภัยได้รับความทุกข์ยากลำบากอย่างใด…ก็ให้นึกถึงบุญ เอาใจไปจรดอยู่ที่บุญ  ทำมาค้าขายอะไรก็ให้เอาใจไปจรดอยู่ที่บุญนั้น… จะได้ค้าขายคล่องได้กำไรเกินควรเกินค่า…”

การหาทรัพย์

“ในโลกมนุษย์ ถ้าเรามีบุญเสียแล้ว จะค้าขายก็ร่ำรวย จะทำงานทำกิจการอะไรก็เจริญ จะหาทรัพย์สมบัติก็ได้คล่องสะดวก สบายไม่ติดขัดแต่ประการใดถ้าว่าไม่มีบุญแล้วจะทำอะไรก็ติดขัดไปเสียทุกอย่างทุกประการ
ดังนั้น จึงได้ชวนพวกเราให้มาทำบุญ ทำกุศลเสีย จะได้เลิกจนเลิกทุกข์ยากลำบากเสียที”